ชินภัทร วิสุทธิแพทย์
TAX TANK TV
กฎหมายไม่กั๊ก | คลังความรู้เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจและภาษี

WWW.TAXTANKTV.COM



CASE STUDY


ว่าด้วยเรื่อง “หุ้น” ในครอบครัวใน “กิจการครอบครัว”

ครอบครัวที่มีกิจการมากมายในรูปบริษัท มักต้องการโอนหุ้นเพื่อกระจาย “ความเป็นเจ้าของ” เพื่อ “การสืบทอดกิจการ” และ มรดก...แต่ “กังวล” ว่า....
.....พ่อแม่จะต้องสูญเสีย “อำนาจ” การควบคุมดูแลบริษัท
.....พ่อแม่จะรับ “เงินปันผล” น้อยลง
.....พ่อแม่ “จะเสียงไม่ดัง”...ลูกจะไม่ฟังอีกต่อไป
.....พ่อแม่จะขาดการดูแล และลูกไม่เคารพพ่อแม่
หลายครอบครัว “ปล่อย” ให้หุ้นกลายเป็นมรดก และให้ลูก ๆ แบ่งกันเองหลังที่จากพ่อแม่จากไปแล้ว บางครอบครัว...    ลูก ๆ ไม่สามารถแบ่งปันมรดก รวมถึงหุ้นได้อย่าง “สงบสุข” และ “เรียบร้อย” ...เพราะการ “แบ่งปันมรดก” ไม่ใช่ “การบวกลบคูณหาร” และ “ไม่ใช่การคำนวณทางคณิตศาสตร์” ที่ (ยกตัวอย่าง) ใช้มรดก 100,000,000 หารด้วยลูก 5 คน แล้วได้คนละ 200 ล้านบาท เหตุผลคือ ลูก 1 คน ไม่ได้แทน “ค่า” ด้วย “ตัวเลข” 1 ตัว เพราะลูกแต่ละคนมีความหมาย “เบื้องหลัง” มากกว่า “ตัวเลข” เช่น ลูกชายคนโต / ลูกชายคนเล็ก / ลูกสาวคนโต / ลูกชายคนเดียวลูกสาวหลายคน / ลูกสาวคนเดียวท่ามกลางลูกชายอีกหลายคน...ความหมายของเบื้องหลังเหล่านี้ มี “ขนาด” ที่ต่างกันไปตามความรู้สึก ความพอใจ และ “อคติ” ของ (ลูก) แต่ละคน

ประเด็นสำคัญคือ “ความพอใจ” ไม่ใช่ “ความเป็นธรรม”...”ความเป็นธรรม” ในสายตาของ “พี่ชายคนโต” ต่างจาก “ความเป็นธรรม” ที่ “น้องชายคนเล็ก” คาดหวังไว้...“ความพอใจ” ในความหมายของ “ลูกชายคนเดียว” ท่ามกลาง “ลูกสาวหลายคน” ต่างจากความพอใจของ “ลูกสาวคนโต”
 ดังนั้น จะดีกว่าหรือไม่...หากพ่อแม่จัดการ “แบ่งปันมรดก” ด้วยการ “ยกให้” ก่อนตาย หรือ “ทำพินัยกรรม” กำหนดการเผื่อตายไว้ให้ชัดเจน ตามความต้องการของพ่อแม่ ...เพราะ “การยกให้” ควรต้อง “ตามใจผู้ให้” ไม่ใช่ “ตามใจผู้รับ” ...และยังช่วยให้ลูก ๆ ไม่ต้อง “ขัดแย้ง” หรือ “กินแหนงแคลงใจ” กันเมื่อมา “แบ่งปันมรดก”...กันเองหลังพ่อแม่ตายไปแล้ว
การแบ่งหุ้นและทรัพย์สินให้ลูกหลัง 1 กุมภาพันธ์ 2559 ต้องไม่ลืม “ภาษีการให้” ที่ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้รับ (ที่เป็นลูก/คู่สมรส/พ่อแม่) ไม่เกิน 20 ล้านต่อคนต่อปี...ยิ่งมี “ผู้รับ” หลายคน ยิ่งกระจายทรัพย์สินออกไปได้มากโดยไม่ต้องเสียภาษี...หากยกให้ลูก และ ลูกมีลูก (หลาน) พ่อแม่ก็สามารถ “ยกให้ก หลานได้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี...เพราะ “หลาน” ถือว่าเป็น “คนอื่น” (ไม่ใช่ลูก)
ยกให้ลูก...ตอนที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่
....จะเห็นได้ว่าเค้าใช้เงินอย่างไร
....จะเห็นได้ว่าเค้าเปลี่ยนไปหรือไม่
....จะเห็นได้ว่าเค้าปฏิบัติต่อพ่อแม่อย่างไร
....จะเห็นได้ว่าเค้า “ต่อยอด” จากทรัพย์สินที่ได้รับ...เป็นหรือไม่ หากผิดพลาด...พ่อแม่ยังคงช่วยเหลือลูกได้...ไม่ได้ปล่อยให้เค้าสู้โลกอยู่อย่างลำพังหลังพ่อแม่ตายแล้ว

ว่าด้วยเรื่อง “หุ้นบุริมสิทธิ์” ในกิจการครอบครัว

เมื่อพ่อแม่แบ่งหุ้นให้ลูกแล้ว...สัดส่วนของการถือหุ้นของพ่อแม่ละลดลง (Dilute)  ทั้งในส่วนของการ “ออกเสียง” (Voting Right) ลงคะแนนของผู้ถือหุ้นและส่วนของการรับ “เงินปันผล” (Dividend Right)...
ทำอย่างไร...จึงจะช่วย “หาทางออก” ให้พ่อแม่ที่ต้องการแบ่งปันหุ้นให้แก่ลูก...โดยที่พ่อแม่ยังคงมี Voting Right และ Dividend Right ต่อไปและได้ประโยชน์จาก “ภาษีการให้” และ “ภาษีการรับมรดก” ด้วย
“หุ้นบุริมสิทธิ์” ช่วยพ่อแม่ได้...ด้วยวิธีการยก “หุ้นสามัญ” ทั้งหมดให้แก่ลูก (ต้องคำนวณ “มูลค่าของหุ้น” ด้วยว่าไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อคนต่อปี) และ “เพิ่มทุน” ใหม่ด้วย “หุ้นบุริมสิทธิ์” ของหุ้นไว้ใน “ข้อบังคับบริษัท” คือ ตัวอย่างตามภาพ

พ่อแม่มีลูก 4 คน
Voting Right  = 1 หุ้นบุริมสิทธิ์ มีสิทธิออกเสียง 100 เสียง (4 หุ้น = 400 เสียง)
...Dividend Right = 1 หุ้นบริมสิทธิ์ มีสิทธิรับเงินปันผล 20% (4 หุ้น = 80%)
จากภาพ...พ่อแม่ถือ “หุ้นบุริมสิทธิ์” รวมกัน 4 หุ้น...ลูก 4 คนถือ “หุ้นสามัญ” รวมกัน 96 หุ้น...ดูเหมือนว่าลูกรวมตัวกัน “แข็งเมือง” กับพ่อแม่ได้ ...แต่ไม่ใช่...เพราะพ่อแม่มี “สิทธิออกเสียง” รวมกัน 400 เสียง ขณะที่ลูกมีเสียงรวมกัน 96 เสียง
“สิทธิรับเงินปันผล” ก็เช่นกัน...พ่อแม่มีสิทธิรับเงินปันผล 80%  ขณะที่ลูกมีสิทธิรับเงินปันผลที่เหลืออยู่คือ 20% ...เงินสดที่พ่อแม่ได้รับจากเงินปันผล ค่อยนำมาแบ่งปันให้ลูกในภายหลังได้ โดยที่พ่อแม่ยังมี “อิสระทางการเงิน” อีกต่อไป
เมื่อจัดโครงสร้างการถือหุ้นเรียบร้อยแล้ว...พ่อแม่ทำ “พินัยกรรมไขว้” ยกทรัพย์สินให้แก่กันรวมถึงหุ้นบริษัทด้วย...ผลคือ เมื่อพ่อแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายก่อน...ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่จะรับมรดก (และได้รับการยกเว้น “ภาษีมรดก” ทั้งหมด) มีผลเป็นการ “ชะลอการเสียภาษีมรดก” เพราะกฎหมายภาษีการรับมรดกยกเว้นภาษีให้แก่ “ผู้รับมรดก” ที่เป็นที่คู่สมรสทั้งหมด...ดังนั้น พ่อแม่ควร “จดทะเบียนสมรส” กันให้ถูกต้องตามกฎหมาย
“หุ้นบุริมสิท์ ได้รับการยอมรับในกฎหมายบริษัทของไทยมาหลายสิบปีแล้ว...ส่วนใหญ่ใช้กับบริษัทที่เน “กิจการร่วมค้า” หรือ “Joint Venture Co” โดยเฉพาะที่มี JV Partner  เป็นบริษัทต่างชาติที่มี “ทุนหนา” มากกว่าหุ้นส่วนฝ่ายไทย
ที่สำคัญ...กฎหมายไทยมองเรื่อง “ต่างด้าว” ผ่านบริษัท เพียงแค่ “การถือหุ้น” และ “นับจำนวนหุ้น” เป็นหลักโดยไม่ได้พิจารณาถึง
Voting Right (สิทธิออกเสียง)
Dividend Right  ( สิทธิรับเงินปันผล)
Economic Right  (สิทธิทางเศรษฐกิจ)
Management Power  (อำนาจบริหาร)
Control Power (อำนาจควบคุม)
Beneficiary (ผู้รับประโยชน์)
ต่างจากประเทศอื่นที่มองเรื่องนี้แบบ “องค์รวม” และมอง “เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ” (Substance Over Form)...ประเด็นนี้ กระทรวงพาณิชย์เคยมีดำริที่จะแก้ไขกฎหมายนี้สมัยนายกฯอานันท์ แต่ไม่สำเร็จ (แรงกดดันจากในประเทศและต่างประเทศมากเหลือเกิน)..คาดหวังว่าในยุคนายกฯ ประยุทธ...เรื่องนี้คงสำเร็จได้ไม่ยาก เพราะทราบว่ากระทรวงพาณิชย์กำลังปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ รวมถึง “กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว” ด้วย

ว่าด้วย Holding Co เพื่อ “กงสี”

เมื่อ “แบ่งหุ้น” ให้ลูกแล้ว...พ่อแม่มัก “เครียด” ว่า ลูกจะ “แอบ” นำหุ้นของกิจการครอบครัวไปขายให้คนอื่น
ทำอย่างไรที่จะช่วยพ่อแม่ป้องกันเรื่องนี้ได้..ใช้...กฎหมายบริษัท” ผ่าน “การออกแบบข้อบังคับบริษัท” เป็นการเฉพาะมาช่วยได้
“ข้อบังคับบริษัท” คือ กติกาที่กำหนดด้วยเรื่อง
....ชื่อบริษัท
....หุ้นบริษัท/หุ้นบุริมสิทธิ์/หุ้นสามัญ
....อำนาจกรรมการบริษัท
....การประชุมกรรมการบริษัท
....การประชุมผู้ถือหุ้น
....การโอนหุ้น
.....การจ่ายเงินปันผล
....การเลิกบริษัท
....ฯลฯ
หากไม่มีการออกแบบข้อบังคับเป็นการเฉพาะ...กระทรวงพาณิชย์มีทางเลือกให้ 2 ทางเวลาจดทะเบียนบริษัท (1) ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (2) ใช้ "แบบข้อบังคับมาตรฐาน" ของกระทรวงพาณิชย์...
ส่วนใหญ่ข้อบังคับบริษัทที่กำหนดไว้ "พิเศษ" ที่ "ป้องกันการโอนหุ้นให้คนนอก" คือ...
"หุ้นของบริษัทห้ามโอน เว้นแต่โอนให้แก่ทายาท หรือ ตกทอดทางมรดก"
ดูเหมือนว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่ปัญหาที่เกิดตามมาคือ "ทายาท" รวมถึงใครบ้าง (ลูกนอกสมรส / บุตรบุญธรรม ???) และ การ "ตกทอดทางมรดก" รวมถึงการทำ "พินัยกรรม" ด้วยหรือไม่ เพราะลูกอาจตายก่อนพ่อแม่ และเขียน #พินัยกรรม ยกทรัพย์สินให้แก่ "คนนอก" หรือ เขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ "ภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส" (ไม่ใช่คู่สมรส)
ข้อบังคับบริษัทที่เขียนไว้เช่นนี้...มีปัญหาทุกครั้งเมื่อจะปรับโครงสร้างองค์กรโดยการสร้าง Holding Co ขึ้นมาเป็น "บริษัทกงสี" ที่เข้าไปถือหุ้นบริษัทอื่นๆ ในกิจการของครอบครัว เพราะโอนหุ้นจากบุคคลที่ถือหุ้นอยู่เดิมไปให้ Holding Co ไม่ได้เวลาจะทำ Share Swap เพราะ Holding Co ไม่ใช่ทายาท ?
กรณีเช่นนี้ ต้อง "แก้ไขข้อบังคับ" ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น...ดังนั้น การ "ออกแบบข้อบังคับบริษัท" จะต้องมีความยืดหยุ่นสูง ภายใต้กรอบที่ครอบครัวควบคุมดูแลได้ ทั้งนี้ ต้อง "เผื่อทางถอย" หรือ Exit ไว้ด้วย
เมื่อจัดแบ่งหุ้นให้ลูกในบริษัทของครอบครัว...หลังจาก "ออกแบบข้อบังคับบริษัท" และกำหนด "หุ้นบุริมสิทธิ์" แล้ว...หากครอบครัวมีหลายบริษัทที่อยู่ในรูป "กงสี" ควรจัดรูปบริษัทครอบครัวให้อยู่ในรูป Holding Co เพื่อความชัดเจนและโปร่งใส...หากไม่มี Holding Co ที่เป็นบริษัท "กงสี" ที่เข้าไปถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ของครอบครัว...จะไม่เกิดการ "รวมศูนย์" และต้องไปแก้ไขข้อบังคับบริษัทครอบครัวทุกบริษัทที่มีครอบครัวถือหุ้นอยู่
ข้อดีของ Holding Co คือ ใช้เงินปันผลเป็น "ตัวนำเงินออก" แบ่งปันให้แก่ครอบครัว...ไม่ใช่นำออกโดยเป็น "ค่าใช้จ่าย" เพราะ ผู้จ่ายต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า "จ่ายอะไร" ขณะที่ "ผู้รับ" ต้องนำมาเสียภาษีด้วย...ไม่ใช่ "ตรุษจีน" แต่ละปี ได้รับ "อั่งเปา" จากเงิน "กงสี" โดยไม่ทราบว่าในแต่ละซองที่ได้รับนั้นมีเงินเท่าไร...ผลคือ ลูก ๆ สงสัยกันว่าแต่ละคนได้รับ "อั่งเปา" มากน้อยเพียงใด
หากอยู่ในรูป Holding Co...ลูก ๆ รับ "เงินปันผล" แทน "อั่งเปา" ตามจำนวนหุ้นบริษัทที่ถือ...เงินปันผลมาจากกำไรของบริษัท (หลังเสียภาษีแล้ว)...โปร่งใส/ตรวจสอบได้... ไม่ใช่ "หยิบเงินสด" ในกิจการมาแจก "อั่งเปา" แล้วมี "ปัญหาการลงบัญชี" และ "การเสียภาษีของบริษัท" เลยเถิดไปถึง "คำถามระหว่างพี่น้อง" และ "การกินแหนงแคลงใจ" ในความไม่ชัดเจนและไม่แน่นอน
"เงินปันผล" หรือ "ส่วนแบ่งกำไร" นี้...ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะมันคือ "แหล่งปล่อยเงิน" อย่างดีของครอบครัว ทั้งนี้ ต้องผ่านการทำบัญชีและภาษีอย่างถูกต้อง...
พ่อแม่มีลูกกี่คน...จ่ายอั่งเปาทุกคน (ตามความพอใจของพ่อแม่)
พ่อแม่แบ่งหุ้นให้ลูก...แบ่งเงินปันผลให้ทุกคน (สัดส่วนหุ้น)
ลูกที่ทำงานในบริษัทครอบครัว...นอกจากได้รับเงินปันผลแล้ว ยังได้เงินเดือนโบนัส / ผลประโยชน์อื่น (รถยนต์ / โทรศัพท์มือถือ / ค่าน้ำมัน / ค่าเดินทาง / สวัสดิการ ฯลฯ)
ลูกที่ไม่ได้ทำงานในบริษัทครอบครัว...ได้รับเฉพาะเงินปันผล
คนที่ไม่ได้ทำงานในกิจการครอบครัวมักมีคำถามเสมอว่า...ทำไมปีนี้ "เงินปันผลน้อยลง"
คนที่ไม่ได้ทำงานในกิจการ...มักถาม "คำถามอื่น" ที่ "แสลงใจ" คนทำงานในครอบครัว เช่น
...กำไรสะสม...ทำไมต้องนำไป "ลงทุนต่อ" (Re-investment)
...กำไรบริษัท...ทำไมลดลง
...บริหารกิจการอย่างไร...ทำไมขาดทุน
...ทำไมคู่แข่งขายดีกว่า
...ทำไมปีนี้ไม่จ่ายเงินปันผล
...ทำไมจ่ายโบนัสพนักงานมาก...แล้วเงินปันผลน้อย
...ทำไม ทำไม...สารพัดจะ "ทำไม"
สาเหตุหลักเพราะ "ลูกคนที่ไม่ได้ทำงาน" ในกิจการครอบครัวมักไม่ได้รับ "ข้อมูล" และ ไม่ได้รับการ "สื่อสาร" ในกิจการบริษัทครอบครัว...แนวทางแก้ปัญหา คือ นำ "ลูกคนที่ไม่ได้ทำงาน" ให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการ "ประชุมผู้ถือหุ้น" หรือ "ประชุมครอบครัว"
หากครอบครัวมีปัญหา...ให้นำ "ข้อบังคับบริษัท" มา "นำทาง" ในการแก้ไขปัญหา...แต่ "ข้อบังคับ" ว่ากันตาม "กฎหมายบริษัท" ในขณะที่ผู้ถือหุ้นในครอบครัวมีอีกหนึ่ง "ตัวล็อค" คือ "สัญญาผู้ถือหุ้น" ว่ากันตาม "กฎหมายสัญญา" โดยสาระสำคัญที่กำหนดมักมี...
...ห้ามโอนขายหุ้นให้คนอื่น ต้องเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมก่อน (Right of First Refusal)
...กำหนดราคาขายหุ้นล่วงหน้า (Net Book Value / EBITDA)
...ห้ามก่อหนี้เกินตัว
...ห้ามออกนอก Comfort Zone ของกิจการครอบครัว
...หากต้องการ "แตกแขนง" กิจการ (Diversify) ต้องหารือกัน
...ฯลฯ
จากตัวอย่าง Holding Co ของกิจการครอบครัวที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน คือ Central / Sahapat / Thai Bev / CP.....นอกนั้น เป็น Holding Co ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น RATCH / BTS / SCG / EGCO / AMATAVN / CKPOWER และล่าสุดที่ PS (พฤกษาเรียลเอสเตท) ได้นำ Holding Co มาแทนในตลาดฯ เพื่อแบ่ง Function ของบริษัทแต่ละแห่งให้ชัดเจน มองในแง่พนักงานบริษัทจะได้แบ่ง "ความเชี่ยวชาญ" (Expertise) และ กำหนด "ผลงาน" (Performance - KPI) ได้ชัดเจน

กรณีที่ไม่จำเป็นต้องมี Holding Co

อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่ไม่จำเป็นต้องใช้ Holding Co สำหรับกิจการครอบครัว...คือ กิจการที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ถือหุ้นเป็น "บุคคลธรรมดา" เช่น... ตัวอย่าง (จากภาพ)

พ่อแม่มีกิจการในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหลัก (ไม่มีกิจการอื่น) ถือหุ้นร่วมกันเกือบครึ่งหนึ่งของหุ้นทั้งหมด...มูลค่าของหุ้นที่พ่อแม่ถือรวมกันคือ 10,000,000,000 บาท (หนึ่งหมื่นล้านบาท)
มีลูกอยู่ 3 คน... ลูก 3 คนจะรับมรดกจากพ่อแม่เป็นหุ้นในตลาดฯ เป็นส่วนใหญ่...ภาษีมรดกต้องเสียรวมกันทั้งหมดหลายร้อยล้าน
ครอบครัวนี้ไม่ได้เตรียมตัวเรื่อง Holding Co มาตั้งแต่ต้น ก่อน IPO หรือ ก่อนเข้าตลาดฯ...เมื่อทราบว่า Holding Co เป็นเรื่องน่าสนใจจึงคิดว่าจะโอนหุ้นที่ถือในนามพ่อแม่ให้แก่ Holding Co แล้วเข้าสู่การทำ Share Swap (หุ้นแลกหุ้น) (คล้ายตัวอย่างจากข้อหารือของกรมสรรพากร_ตามภาพ) แล้วพ่อแม่ลูก 3 คน รวมเป็น 5 คนจะไปถือหุ้นใน Holding Co ในภายหลัง...เพื่อความยั่งยืน...
(จากภาพข้อหารือ)

...จะเห็นได้ว่า Share Swap ไม่ก่อให้เกิดภาษีเงินได้ของผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดา และ ไม่มีภาษีของ Holding Co
แต่..."ความไม่จำเป็นของ Holding Co" เกิดขึ้นเมื่อ...มีผู้สนใจจะซื้อกิจการของครอบครัวนี้...ดังนั้น จึงไม่ต้องใช้ Holding Co มาทำให้ "เสียสถานะของการยกเว้นภาษี" เพราะพ่อแม่สามารถขายหุ้นที่ถืออยู่ในตลาดฯ โดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก "กำไร" (Capital Gain) ที่ขายในตลาดฯ หากให้ Holding Co มาถือหุ้นบริษัทในตลาดฯ แล้วให้ Holding Co ขายหุ้นออกไป...ผลคือ Holding Co ต้องเสียภาษีจากกำไร เพราะไม่มีการยกเว้นภาษีให้แก่บริษัท...ดังนั้น Holding Co จึงเหมาะสมที่สุดกับ "กิจการครอบครัว" ที่ต้องการสร้างความยั่งยืน...ไม่ใช่สร้างความมั่งคั่ง หรือ การแบ่งมรดกเท่านั้น





taxtanktv.com | แหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจและภาษี โดย ชินภัทร วิสุทธิแพทย์ | คำจำกัดสิทธิ | Chinapat Visuttipat
Facebook :TaxTank | Youtube : TAX TANK TV | รวมคำคม | รวมภาพชินภัทร | Contact Us : taxtanktv@gmail.com
March 2018 - Present (C) All Rights Reserved