ชินภัทร วิสุทธิแพทย์
TAX TANK TV
กฎหมายไม่กั๊ก | คลังความรู้เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจและภาษี

WWW.TAXTANKTV.COM



บทความพิเศษ (4) ประจำเดือนสิงหาคม 2561

"ภาษีการให้" ยกเว้นแบบมีข้อจำกัดอย่างไร

การแก้ไขประมวลรัษฎากรในส่วน "ภาษีการให้" เมื่อ 5 สิงหาคม 2558 และมีผลใช้บังคับเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2559 นั้น มีผลให้ยกเว้นภาษีการให้ "เฉพาะจำนวน" ไม่เกิน 20 ล้านบาท ต่อ คน (ผู้รับ) ต่อปีภาษี (นับตามปีปฏิทิน) ทั้งนี้ สำหรับผู้รับที่เป็น

(ก) บุพการี (กรณีลูกให้พ่อแม่)
(ข) คู่สมรส
(ค) ผู้สืบสันดาน (กรณีพ่อแม่ให้ลูก)

...ส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาทต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 5...
หากผู้รับเป็น "คนอื่น" จะได้รับยกเว้นภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท ต่อคน (ผู้รับ) ต่อปี ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 เช่น
ปู่ให้หลาน / พี่ให้น้อง / ลุงให้หลาน / เพื่อนให้เพื่อน / คนสนิทให้คนที่สนิท (กว่า) !!!
โดยสรุปคือ หากผู้รับเป็น "บุคคลใกล้ชิด" จะได้รับยกเว้นภาษีมากกว่า...ทั้งนี้ ส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่ยกเว้นภาษีจะเสียภาษีในอัตราเท่ากัน (5%)...ทางออกสำหรับคนมีทรัพย์สินมาก คือ ทยอยให้ทรัพย์สินแก่ลูกหลานพี่น้องปีละไม่เกิน 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี...หากมีทรัพย์สินมากแต่ "ผู้รับให้" น้อย อาจต้องให้กันเป็นหลายสิบปี...ทั้งนี้ เพื่อลดทรัพย์สินให้น้อยลง "ก่อนตาย" มิฉะนั้น ทรัพย์มรดกก็จะมากขึ้น และต้องไปเสียภาษีการรับมรดกมากขึ้น
กรณีนี้จะต่างจาก "ภาษีการรับมรดก" เพราะจะยกเว้นภาษีให้ในจำนวนเงินเท่ากัน (100 ล้านบาท)...ไม่ว่า "ผู้รับมรดก" จะเป็น "บุคคลใกล้ชิด" หรือ "คนอื่น" แต่ส่วนเกินกว่าที่ยกเว้นภาษีจะเก็บภาษีอัตราต่างกัน คือ ผู้รับมรดกเป็นบุพการี หรือ ผู้สืบสันดาน ได้รับมรดกเกินกว่า 100 ล้านบาทจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ขณะที่ผู้รับเป็น "คนอื่น" จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10
(หมายเหตุให้ชื่นใจด้วยว่า...หากผู้รับมรดกเป็น "คู่สมรส" กฎหมายภาษีการรับมรดกยกเว้นภาษีให้ทั้งหมดโดยไม่ได้จำกัดจำนวนเงินยกเว้นภาษีไว้...
ดังนั้น คู่ไหนที่แต่งงานกันแล้ว "ไม่ได้จดทะเบียนสมรส" หรือ "จดแล้วหย่า" จึงควร "เปลี่ยนสถานะให้เป็นคู่สมรส" ด้วยการจดทะเบียนสมรส และสามารถ
"ชะลอการเสียภาษีมรดก" ด้วยการยกทรัพย์มรดกให้คู่สมรสก่อนด้วยการทำ "พินัยกรรม" ก่อนที่ "คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่" จะยกทรัพย์มรดกให้แก่ลูกต่อไป...
แง่คิด คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าคู่สมรสฝ่ายใดจะ "ตายก่อน"...ทางปฏิบัติ คือ การทำ "พินัยกรรมไขว้" ระหว่างคู่สมรส...เพื่อกำหนดเรื่องทรัพย์สิน และ กำหนดการเผื่อตาย (การทำพินัยกรรมไม่ใช่การแช่งให้ตาย)





taxtanktv.com | แหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจและภาษี โดย ชินภัทร วิสุทธิแพทย์ | คำจำกัดสิทธิ | Chinapat Visuttipat
Facebook :TaxTank | Youtube : TAX TANK TV | รวมคำคม | รวมภาพชินภัทร | Contact Us : taxtanktv@gmail.com
March 2018 - Present (C) All Rights Reserved