ชินภัทร วิสุทธิแพทย์
TAX TANK TV
กฎหมายไม่กั๊ก | คลังความรู้เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจและภาษี

WWW.TAXTANKTV.COM



จับตามติ ครม. 1 พฤษภาคม 2561“ภาษีนาทีทอง” (ต่ออายุ)
เรื่องร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริม ให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการ ยกเว้น รัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจ ในรูปของนิติบุคคล) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา (ภาษีนาทีทอง)
กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคล ที่ไม่ใช่นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับ จากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้าหรือการกระทำตรา สารอันเนื่องมาจากการโอนทรัพย์สินให้แก่บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายไทยโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ทั้งนี้เฉพาะ การโอนทรัพย์สิน และ การจดทะเบียนจัด ตั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ข้อสังเกตุที่น่าติดตามต่อไป
1. การยกเว้นภาษีนี้เป็นกรณีของ "กรมสรรพากร" แต่ยังไม่มีการลด "ค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน" จากปกติ 2% เป็น 0.01% เหมือนปี 2560 ซึ่งเป็นบทบาทของ "กรมที่ดิน"
2. ปี 2560 "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า" ไม่ได้มีบทบาทหรือมาตรการพิเศษเกี่ยวกับ "ภาษีนาทีทอง" เลย ทั้งที่ "ภาษีนาทีทอง" กำหนดให้ "ตั้งบริษัทใหม่" เท่านั้น ดีที่ว่าในปี 2561 นี้ "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า" ได้ปรับปรุง "ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัท" ให้ทันสมัย และไม่เป็นภาระแก่ประชาชนอีกต่อไป
3. "ภาษีนาทีทอง" เป็น "สัญญาณบอกเหตุ" ของการตรวจสอบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีกิจการในอดีตย้อนหลัง (ก่อนการแปลงทรัพย์สิน เป็นหุ้นบริษัทใหม่) หากไม่มีกิจการมาก่อน แสดงว่าขาดคุณสมบัติยกเว้นภาษีและผู้เสียภาษีควรเตรียมพร้อมกับการถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง
4. "ภาษีนาทีทอง" (ต่ออายุในปี 2561) สอดรับการมาตรการบัญชีเล่มเดียวของบริษัทผู้เสียภาษี ที่กรมสรรพากรจะประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ในปี 2562 เป็นต้นไปเพื่อให้เครดิตสินเชื่อโดย วิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินผ่านงบการเงินบริษัทเท่านั้น
5. เมื่อ "เจ้าของกิจการบุคคลธรรมดา" แปลงทรัพย์สินมาเป็นหุ้นในบริษัทใหม่แล้ว บุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของกิจการ (นอกระบบ) ทั้งหลายจะ "ถูกกวาด" เข้ามาอยู่ในระบบภาษี ใครที่ยังอยู่นอกระบบ จะถูก "ส่อง" ง่ายขึ้น

ชินภัทร วิสุทธิแพทย์




taxtanktv.com | แหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจและภาษี โดย ชินภัทร วิสุทธิแพทย์ | คำจำกัดสิทธิ | Chinapat Visuttipat
Facebook :TaxTank | Youtube : TAX TANK TV | รวมคำคม | รวมภาพชินภัทร | Contact Us : taxtanktv@gmail.com
March 2018 - Present (C) All Rights Reserved